พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่า การพัฒนาการศึกษาของเยาวชนนั้น เป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล ให้เป็นทุนสำหรับการศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีทุนออกไปศึกษา หาความรู้ต่อในวิชาการชั้นสูงในประเทศต่างๆ โดยไม่มีเงื่อนไขข้อผูกพันแต่ประการใด เพื่อที่จะได้นำความรู้นั้นๆ กลับมาใช้พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
          นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น สารานุกรมชุดนี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสารานุกรมชุดอื่นๆ ที่ได้เคยจัดพิมพ์มาแล้ว กล่าวคือ เป็นสารานุกรมอเนกประสงค์ที่บรรจุเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นสาระไว้ครบทุกแขนงวิชา โดยจัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนแต่ละรุ่น ตลอดจนผู้ใหญ่ที่มีความสนใจ สามารถที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ได้ตามความเหมาะสมของพื้นฐานความรู้ ของแต่ละคน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชา การอุทิศเวลาและความรู้ เพื่อสนองพระราชดำริ โดยร่วมกันเขียนเรื่องต่างๆ ขึ้น แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
            ทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ ในมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่มในการก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท สำหรับที่จะสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้า ให้ได้มีสถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียน โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูสอนในวิชาสามัญต่างๆ ที่ไม่ได้ขัดต่อพระธรรมวินัย ตลอดจนช่วยอบรมศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน ทั้งนี้ เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กนักเรียน ได้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาควบคู่กันไป อันจะทำให้เยาวชนของชาติ นอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังจะทำให้มีจิตใจที่ดี ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติต่อไป ในอนาคต
          โรงเรียนร่มเกล้า ก็เป็นสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ในหลายจังหวัดที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริ ที่จะให้ทหารออกไปปฏิบัติภารกิจในท้องที่ทุรกันดาร ได้ทำประโยชน์ต่อชุมชน และมีส่วนช่วยเหลือประชาชนในด้านการศึกษา ตามโอกาสอันควร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ทหารจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาสำหรับเยาวชน และยังเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดี ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารที่ไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่นั้นๆ กับราษฎรเจ้าของท้องที่อีกโสตหนึ่งด้วย ซึ่งในการดำเนินงานจัดสร้างโรงเรียน ทางฝ่ายทหารได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และฝ่ายศึกษาธิการ เพื่อเลือกสถานที่ตั้งโรงเรียนที่เหมาะสมกับความจำเป็นที่สุด ซึ่งปรากฎว่าราษฎรในท้องที่ที่มีการสร้างโรงเรียน ได้พากันร่วมอุทิศแรงกายช่วยในการก่อสร้าง ตลอดจนอุทิศทุนทรัพย์สมทบเป็นทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงเรียน เพื่อเป็นการโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย และเมื่อการก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนเหล่านั้น พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า โรงเรียนร่มเกล้า ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา

พระราชกรณียกิจด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประมุขของประเทศ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ หลายประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทย กับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้น ที่มีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว ให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทรงนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทย ไปยังประเทศต่างๆ นั้นด้วย ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างไกลมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล และประเทศต่างๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญทางพระราชไมตรีนั้น มีดังนี้ 
    เวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งแรก ในรัชกาลปัจจุบัน
    สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๘-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓
    สหภาพพม่า ระหว่างวันที่ ๒-๕ มีนาคม ๒๕๐๓
    สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๔ มิถุนายน - ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๓
    อังกฤษ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๓
    สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๕ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม ๒๕๐๓
    สาธารณรัฐโปรตุเกส ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ สิงหาคม ๒๕๐๓
    สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒ช-๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๓
    เดนมาร์ก ระหว่างวันที่ ๖-๙ กันยายน ๒๕๐๓
    นอร์เวย์ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ กันยายน ๒๕๐๓
    สวีเดน ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ กันยายน ๒๕๐๓
    สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ ๒๘ กันยายน - ๑ ตุลาคม ๒๕๐๓
    นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๓
    เบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ ๔-๗ ตุลาคม ๒๕๐๓
    สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๔ ตุลาคม ๒๕๐๓
    ลักเซมเบอร์ก ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ ตุลาคม ๒๕๐๓
    เนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗ ตุลาคม ๒๕๐๓
    สเปน ระหว่างวันที่ ๓-๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๓
    สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๒ มีนาคม ๒๕๐๕
    สหพันธรัฐมลายา ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๗ มิถุนายน ๒๕๐๕
    นิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๖ สิงหาคม ๒๕๐๕
    ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม - ๑๒ กันยายน ๒๕๐๕
    ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๒๗ พฤษภาคม - ๕ มิถุนายน ๒๕๐๖
    สาธารณรัฐจีน ระหว่างวันที่ ๕-๘ มิถุนายน ๒๕๐๖
    สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ ๙-๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๖
    สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๕ ธันวาคม ๒๕๐๗
    สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๘ สิงหาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง
    สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๒ ตุลาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง
    อิหร่าน ระหว่างวันที่ ๒๓-๓๐ เมษายน ๒๕๑๐
    สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๖-๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๐ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง
    แคนาดา ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๔ มิถุนายน ๒๕๑๐
    สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ ๘-๙ เมษายน ๒๕๓๗ 

พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์

       ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้ป่วยไข้ได้ทันที
      นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริที่ให้ทันตแพทย์อาสาสมัคร ได้เดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟัน แก่เด็กนักเรียนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากแพทย์ทั่วทุกภาค โดยให้การบริการรักษาโรคฟัน โดยไม่คิดมูลค่าในการแพทย์เคลื่อนที่
     สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดทุกแห่ง ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางของชุมชนในชนบท โดยจะพระราชทานกล่องยาแก่วัด เพื่อพระภิกษุใช้เมื่อเกิดอาพาธ และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรผู้ป่วยเจ็บในหมู่บ้านนั้นๆ ส่วนในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมหน่วยทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ที่ออกไปตั้งฐานปฏิบัติการในท้องที่ทุรกันดาร ก็จะพระราชทานสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ รวมทั้งยารักษาโรคสำหรับใช้ในหมู่เจ้าหน้าที่ และใช้ในการรักษาพยาบาล และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรในท้องที่ ที่มาขอความช่วยเหลือ อันจะทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปราม และประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติการ ได้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
     ทางด้านหน่วยแพทย์หลวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ประทับแรมทุกแห่งนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้มาขอรับการรักษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทาง ไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นผู้แนะนำสถานที่และร่วมเดินทางไปด้วย สำหรับราษฎรผู้เจ็บป่วยรายที่มีอาการหนัก หรือจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจรักษาเพิ่มเติมนั้น ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพระราชดำเนิน ทำการบันทึกรายชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และอาการโดยละเอียด โดยตรวจสอบความถูกต้องกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และมีสำเนาให้รับทราบเพื่อติดต่อประสานงานต่อไป ในการพิจารณาส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อ ตามความเห็นของแพทย์ผู้ทำการตรวจ 

พระราชกรณียกิจด้านศาสนา

 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงเป็นพุทธมามกะที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมั่นคง
ทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี  ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙  และประทับศึกษาพระธรรมวินัย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑๕ วัน ในฐานะองค์พุทธศาสนูปถัมภก ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาตามราชประเพณี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรประจำฤดูโดยสม่ำเสมอ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้าง พระพุทธนวราชบพิตรขึ้น สำหรับพระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด เพื่อประดิษฐาน ณ ศาลากลางจังหวัดต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้
หล่อพระพิมพ์พระสมเด็จจิตรลดา เพื่อพระราชทานเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหาร ตำรวจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อันตรายมีความเสี่ยงสูง  นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อทำนุบำรุงและปฏิสังขรณ์พระอารามต่าง ๆ อีกทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกเพิ่มเติม และให้จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นฉบับภาษาบาลี ฉบับแปลภาษาไทย 
          ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการพัฒนาพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีและอรรถกถาฉบับคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกของโลกจนสำเร็จ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็กพระราชทานในวันวิสาขบูชา อีกทั้งยังสนพระราชหฤทัยเรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงว่างจากพระราชกรณียกิจจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสนทนาธรรมกับพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทรงพระราชอุตสาหะศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วยพระองค์เอง และเมื่อครั้งที่ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์  (วิน ธมมฺสาโร) แห่งวัดราชผาติการาม เรื่อง พระมหาชนก ได้เกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยต่อการทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เรื่อง พระมหาชนก
       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นเอกองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงอุปถัมภ์ศาสนาอื่นทุกศาสนาในแผ่นดินไทยทั้งศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ ดังนี้ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนิน  ไปทรงเยี่ยมราษฎรหรือติดตามความก้าวหน้าโครงการพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี มัสยิดประจำชุมชน และพระราชทาน พระราชทรัพย์เพื่อการทำนุบำรุงมัสยิด  เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับ ศาสนจักร ณ นครรัฐวาติกัน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชมกิจการด้านการแพทย์ การศึกษาขององค์กรคริสต์ศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะพราหมณ์ คณะผู้แทนชาวไทยซิกข์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวาย
พระพรชัยมงคลในโอกาสต่าง ๆ รวมทั้ง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะพราหมณ์เป็นผู้นำในการประกอบพระราชพิธีสำคัญตามโบราณราชประเพณี